เที่ยวสุโขทัยเมืองมรดกโลก 2 วัน 1คืน

17-18 ต.ค.2563 สวัสดีค่ะ เรากำลังเดินทางไปที่จังหวัดสุโขทัย แหล่งอารยธรรมและมรดกโลก โดยการเดินทางในทริปนี้ เราเดินทางด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชียเช่นเดิม และแน่นอนเป็นตั๋วแอร์เอเชียบุฟเฟต์ ครั้งที่ 6 แล้ว

เราลงที่สนามบินพิษณุโลกแต่เช้า

แวะกินอาหารเช้ากันก่อน ที่ร้านไข่กะทะริมน่าน ร้านใกล้ๆ สนามบินพิษณุโลก ร้านอาหารเช้าเล็กๆ ริมแม่น้ำน่าน บรรยากาศดี ราคาไม่แพง

อิ่มท้องแล้ว เราเดินทางต่อไปยังสุโขทัย แวะเติมพลังด้วยร้านกาแฟวิวทุ่งนาสวยๆ

ชื่อร้าน นาข้าวคาเฟ่ ร้านชิคๆ มุมถ่ายรูปเพียบ มีอาหาร เครื่องดื่ม ขนมบริการ

เราใช้เวลาอยู่ที่นี่นานพอสมควรเลย มัวแต่ถ่ายรูปและชาร์จโทรศัพท์มือถือ

เราถึงแล้วจังหวัดสุโขทัยประมาณเที่ยงนิด ๆ ก็ถึงเวลาอาหารเที่ยงพอดี

เราทานก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ก๋วยเตี๋ยวท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คือใส่ถั่วฝักยาวลงไปด้วย

ร้าน ตาปุ้ย ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย เพราะเค้าบอกว่าเป็นเจ้าแรกในจังหวัดสุโขทัยเลยนะ

ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยต้มยำ รสชาติกลมกล่อม ไม่ต้องปรุงเยอะ
ผัดไทยสุโขทัย ใส่หมูนุ่ม
บริเวณร้านตกแต่งด้วยขอสะสมโบราณ

มีร้านกาแฟ และมุมนั่งเล่น และถ่ายรูป มีของเล่น ตุ๊กตาน่ารักเพียบ

เช็คอินที่พักกัน เราเข้าพักที่ โรงแรมไทยไทย สุโขทัย โรงแรมสไตล์ไทยแลนด์ พนักงานให้การต้อนรับแบบดีมาก ห้องพักดี ราคาไม่แพงด้วย แบงค์พันมีทอน

อยู่ใกล้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รายละเอียดรีวิวแบบเต็ม ๆ คลิก โรงแรมไทยไทย สุโขทัย

ด้านหน้าโรงแรม
ห้องพัก
ห้องพัก
ล้อบบี้

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ในอดีตเมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ภายในอุทยานฯ มีสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส

บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร และมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมมากมาย

บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ มีรถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 30 บาท ออกทุก 15 นาที นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการ รถจักรยาน ให้เช่าในราคาคันละ 20 บาท และรถกอล์ฟ ชั่วโมงละ 130 บาท

เราเลือกเช่ารถกอล์ฟ แบบ 2 คน คันเล็กๆ น่ารัก

แผนที่ท่องเที่ยว ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

วัดสระศรี

เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานสำคัญอยู่บริเวณกลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และสิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง

วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจ พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”

วัดศรีชุม

ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอจนะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา

วัดพระพายหลวง

เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานทเก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน

วัดเชตุพน

ศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท คือนั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ และหนา โดยมีการสกัด และบากหินเพื่อทำเป็นกรอบ และซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้หลักที่ 58 จารึกในปี พ. ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้

วัดสะพานหิน

วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”

อาหารเย็น ตลาดท่าน้ำรับเสด็จ

ตลาดสไตล์ไทย ๆ มีอาหารแบบทานง่ายๆ เช่น ข้าวเปิ๊บ บาร์บีคิว ยำ ทอดมัน ขนมเบื้องญวณ เป็นต้น นั่งทานแบบขันโตก มีฉากหลังเป็นเจดีย์โบราณ

เช้าวันที่ 2 เรามุ่งหน้าไป อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัด สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง

อุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถาน และรถจักรยาน

เราไม่ได้ใช้บริการจักรยาน เพราะฝนตกพรำๆ และไม่ได้ใช้บริการรถราง เพราะคนน้อยมาก คนไม่เต็มรถ สุดท้ายการเดินก็ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศกว่านะ

พื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีพื้นที่กว้างขวาง มีโบราณอยู่รอบๆ บริเวณ สภาพต้นไม้เขียวครึ้ม บรรยากาศดูลึกลับ ดูขรึมมากกว่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เป็นพื้นที่โล่ง

ทางเข้าบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

แนวกำแพงที่ยังตั้งบนพื้นดินอย่างมั่นคง ที่จะพังทลายมาจากหินด้านบน

วัดนางพญา

เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพนม และลวดลายต่าง ๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้า และมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านใต้มีลวดลายปูนปั้น ลักษณะเด่นก็คือ ลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพนมเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

เจดีย์มีความสมบูรณ์มาก

ผนังวัดที่ยังหลงเหลืออยู่ หาดูยากมาก เพราะส่วนใหญ่พังหมดแล้ว

วัดเจดีย์เจ็ดแถว

มีเจดีย์แบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับบอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง ส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ ส่วนซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย

พระพุทธรูปปางนาคปรก สไตล์สุโขทัย

วัดช้างล้อม

โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ส่วนทางด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีรูปประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไปคงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์

มื้อเที่ยง เราแวะทานอาหารเที่ยงแบบง่ายๆ เป็นทางผ่าน

หนีไม่พ้นก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยเหมือนเดิม ร้านวันเพ็ญก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย บรรยากาศดี ริมแม่น้ำยม อาหารอร่อย ไม่แพง

ก่อนถึงสนามบิน มีเวลาเหลือ เลยแวะไปสถานที่สำคัญในเมืองพิษณุโลก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย

วัดจุฬามณี

เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก เชื่อกันว่าเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเมืองพิษณุโลกเดิม ตามประวัติศาสตร์ของวัดจุฬามณีแห่งนี้ กล่าวว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมหาราชทรงสร้างขึ้นและได้เสด็จออกผนวช ณ วัดแห่งนี้ เป็นเวลาถึง 8 เดือน 15 วัน เลยทีเดียว และการออกผนวชของพระองค์ท่านมีข้าราชบริพารบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป

บวชต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์

เดินทางกลับด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย ขึ้นที่สนามบินพิษณุโลก

ใครที่ยังไม่ได้ซื้อของฝาก มาซื้อที่สนามบินได้ มีอยู่ 1 ร้าน มีทั้งของฝากพิษณุโลก และสุโขทัย

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sukhothai.go.th ; http://www.thongteaw.com

Leave a Reply