เที่ยวไหนในเมืองรอง อ่างทองและลพบุรี

สวัสดีค่ะ วันที่ 3-5 มิ.ย. 65 วันหยุดยาว ทริปนี้ เราเลือกไปจังหวัดเมืองรอง ใกล้ ๆ กรุงเทพ อ่างทอง ลพบุรี

สถานที่เที่ยวแรก วัดม่วง จ.อ่างทอง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่ตั้ง หมู่ที่ 6 ตำบลหัวสะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอ่างทอง แค่ประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเปิด google map https://goo.gl/maps/GvFyBs6EzaXnRznw5 ง่ายที่สุด

“หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร โครงการสร้างพระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ นั้นก่อสร้างเป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นชั้น ๆ แบบโครงสร้างตึกสูง 32 ชั้น ก่ออิฐถือปูนฉาบทาสีทองตลอดทั้งองค์

การสัมผัสที่ปลายพระหัตถ์พระใหญ่ (พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ) จะมีความเชื่อกันว่า ขอให้ท่านประทานพรให้เติบโต เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน

ภายในอุโบสถ ตกแต่งสวยงาม คล้ายๆ วัดท่าซุงที่จังหวัดอุทัยธานี แต่มีขนาดเล็กกว่า

บริเวณรอบ ๆ อุโบสถ มีรูปเคารพเกจิอาจารย์ และเทวรูปต่างๆ สำหรับให้ทำบุญขอพร

2. พระตำหนักคำหยาด ครั้งหนึ่งคือที่พักของพระเจ้าอุทุมพร

ที่อยู่ ตำบล คำหยาด อำเภอ โพธิ์ทอง อ่างทอง 14120 หรือ Google map : https://goo.gl/maps/aRJEy8xdxp9xkABQ7

อนุสรณ์สถานปลีกวิเวกของพระมหากษัตริย์ที่สละราชบัลลังก์ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๔ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนาม “พระเจ้าอุทุมพร” กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ รองสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ ของกรุงศรีอยุธยา ไม่มีโอกาสได้กลับมาแผ่นดินบ้านเกิด คงสวรรคตที่ประเทศพม่า ปัจจุบัน “พระตำหนักคำหยาด” ซึ่งถูกทอดทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานานเหลือแต่เพียงผนังอิฐ ๔ ด้าน ประตูและหน้าต่างมีลักษณะโค้งยอดแหลม เหมือนสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เป็นอนุสรณ์ให้นึกถึง “ขุนหลวงหาวัด” ซึ่งน้อยนักที่จะมีผู้ไม่ปรารถนาในพระราชบัลลังก์เช่นพระองค์

3. วัดสังกระต่าย จ.อ่างทอง

ที่อยู่ ตำบล ศาลาแดง อำเภอเมืองอ่างทอง อ่างทอง 14000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/HsytR6coFgcnjtNq5

สถานที่ท่องเที่ยว Unseen แห่งใหม่ในอ่างทอง ตัวโบสถ์เก่าแก่มีต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมรอบโบสถ์ 4 ต้น รวมถึงปกคลุมภายในโบสถ์ด้วย  เดินเที่ยวชมอยู่พักใหญ่ นึกว่าตัวเองอยู่ปราสาทบายน ณ กัมพูชา

ภายในโบสถ์มีทั้งหมด 3 ห้อง ภายในห้องแรกมีพระบูชา คือ หลวงพ่อแก่น เมื่อเข้ามาในห้องใหญ่มีพระประธานองค์ใหญ่ 1 องค์ คือ หลวงพ่อวันดี และอีก 2 องค์มีขนาดย่อม ลงมา คือ หลวงพ่อศรี และหลวงพ่อสุข ส่วนห้องสุดท้ายมีฤาษี และพญานาค

วัดนี้มีอายุกว่า 400 ปี คาดว่าน่าจะถูกสร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้างมาประมาณ 200 ปีกว่า นับแต่เสียงกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 โดยที่นี่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบสถ์วัดสังกระต่ายเป็นโบราณสถานด้วย

4. บ้านหุ่นเหล็ก จ.อ่างทอง

สถานที่รวบรวมหุ่นยนต์หลากหลายชนิดที่สร้างขึ้นมาจากเศษเหล็กเหลือใช้นำมาหลอมหลวมและสร้างสรรค์จนกลายเป็นผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ

ที่อยู่ หมู่ 6 41/2 ทางหลวงหมายเลข 32 ตำบล ตลาดกรวด อำเภอเมืองอ่างทอง อ่างทอง 14000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/HzV8Ecvp65YKt84f6

ค่าเข้าสถานที่ ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท

ภายในมีหุ่นเหล็กหลากหลายขนาด

ฝากท้องที่นี่ได้ มีเครื่องดื่ม ร้านอาหารและร้านขายขนมช็อกโกแลต design พิเศษ

5. พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี

ที่อยู่ 182 ถ.สรศักดิ์ ต ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/zj7QYzcfkRGjuHHf8

ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 30 บาท

ชาวเมืองลพบุรีเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “วังนารายณ์” เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรีเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่นี่ก็ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

พื้นที่ทั้งหมดภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอกประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก สิบสองท้องพระคลัง ตึกพระเจ้าเหา ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศโรงช้างหลวง 10 โรง

เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีอาคารต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ (ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมติดกัน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ,พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย ,พระที่นั่งไชยศาสตรากร และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม) ทิมดาบ หรือ ที่พักของทหารรักษาการณ์และสุดท้ายคือเขตพระราชฐานในมีพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และหมู่ตึกพระประเทียบ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์

ชั้นที่ 1 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 700 – 1400 จำแนกเป็นเรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐาน และการดำรงชีวิต อักษร-ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบในจังหวัดลพบุรี โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหรียญ ตราประทับ จารึก ฯลฯ

ชั้นที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการถาวร 4 เรื่อง คือ เรื่องประวัติศาสตร์และศิลปกรรมภาคกลางของประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 หรือสมัยอิทธิพลศิลปะเขมร โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมแบบต่างๆ ที่พบในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คือ ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ประเทศไทย (ศิลปะศรีวิชัย) ศิลปะทางภาคเหนือศิลปะล้านนาและศิลปะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การแสดงเครื่องถ้วยที่พบในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องถ้วยแบบต่างๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และศิลปโบราณวัตถุ พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ศิลปกรมอยุธยา-รัตนโกสินทร์) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูป บานประตูไม้แกะสลัก ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม เหรียญตรา ผ้า เครื่องเงิน-ทอง เครื่องถ้วย ฯลฯ

ชั้นที่ 3 แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ

6. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี

ที่อยู่ 12 ซอย ราชดำเนิน 1 ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/Km7RD1Q7rn7GqFry5

เป็นวัดเก่าแก่ สถาปัตยกรรมก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าวัดแห่งนี้เคยผ่านการบูรณะมาหลายครั้งในสมัย กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ยุค สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เริ่มด้วย ศาลาเปลื้องเครื่อง แม้ในปัจจุบันจะเหลือเพียงเสาเท่านั้น แต่สมัยก่อนเคยเป็นสถานที่ให้พระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนเข้าพิธีศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ถัดมาคือ พระวิหารหลวง ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ประธาน โดยมี พระอุโบสถ ขนาดย่อมอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง คือ พระปรางค์ ขนาดใหญ่ที่สุดใน ลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงยุคเดียวกับ พระปรางค์สามยอด ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เพียงแต่พระปรางค์ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะมีเพียงองค์เดียวเท่านั้น

สถาปัตยกรรมของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีการผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลายในอดีต เช่น ขอม ละโว้ อโยธยา และ ศิลปะตะวันตก เนื่องจากช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 เป็นยุคที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ จึงเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมมาถึง ละโว้ ซึ่งก็คือ ลพบุรีในอดีต ทำให้รายละเอียดบางส่วนภายในวัด เช่น ลายกระหนก บนหน้ากระดานแถวบนสุดของพระปรางค์ มีลักษณะแบบศิลปะขอม

7. บ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์)

ที่อยู่ ถนน วิชาเยนทร์ ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/p4CVJbqyBvwU8gju8

บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต สร้างขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2228 ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ อีกทั้งยังเป็นบ้านพักที่เมืองลพบุรีของท้าวทองกีบม้า กับสามี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ หลวงสุรสาคร (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สมุหนายกชาวกรีก คนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ อีกด้วย

คอนสแตนติน ฟอลคอน คือชื่อเดิมเมื่อครั้งท่านเข้ามารับราชการ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” ด้วยเพราะทำความดีความชอบไว้มาก และได้รับพระราชทานที่พักอาศัยให้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านวิชาเยนทร์ นั่นเอง

ในปัจจุบัน บ้านวิชาเยนทร์เหลือเพียงซากปรักหักพัง ซึ่งอยู่ในรั้วรอบขอบชิด มีประตูเปิด-ปิด ภายในยังมองเห็นโครงสร้าง ที่แบ่งได้เป็นสามส่วนคือ ส่วนทิศตะวันตก ส่วนกลาง และส่วนทางทิศตะวันออก

ส่วนทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็น บ้านพักของพระยาวิชาเยนทร์และท้าวทองกีบม้า เป็นตึก 2 ชั้น กรอบประตูและหน้าต่าง เห็นได้ถึงสถาปัตยกรรมแบบยุโรป

ส่วนกลาง สันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์ศาสนาคริสต์ บันไดโค้งสถาปัตยกรรมแบบยุโรป

ส่วนทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็ณ บ้านพักรับรองเหล่าคณะทูต มีห้องเก็บไวน์ ห้องเลี้ยงรับรอง ห้องอาบน้ำ

8. พระปรางค์สามยอด

ที่อยู่ ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 หรือ Google Map https://goo.gl/maps/qWPT28zctfV7uBK7A

ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม

พระปรางค์สามยอดสมบูรณ์แบบงดงามด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทศิลาแลงเขมรที่เรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ช่างได้ใช้ศิลาแลงฉาบปูนในการก่อสร้างประดับส่วนต่าง ๆ ด้วยปูนปั้นที่สำคัญคือสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี

9. Hop Inn ลพบุรี

ที่อยู่ หมู่ที่ 2, 228, ตำบล ท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 หรือ Google Map https://g.page/hopinnlopburi?share

โรงแรมในดวงใจทุกครั้งที่เราไปพักที่จังหวัดเมืองรอง เพราะไว้ใจได้ในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย บริการห้องพักมาตรฐาน และมั่นใจว่าไม่ถูกเทแน่นอน แถมราคาค่าห้องยังน่ารักอีกด้วย

Leave a Reply