แชร์แผนเที่ยวน่านนคร

6-8 พฤศจิกายน 63 การเที่ยวจังหวัดน่านในครั้งนี้ เราจะขับรถตามเข็มนาฬิกา โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองน่าน ขับรถไปพักที่ อำเภอปัว ขับต่อไปทางเส้นทางอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ไปพักบ่อเกลือ และขับกลับทางถนนสันติสุข ถนนที่ขึ้นชื่อว่าสวยมาก ตามแผนที่เลย

ทริปนี้ เราเดินทางด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย ตั๋วบุฟเฟต์ครั้งที่ 7 ไฟลท์บินเวลาสวยมาก บินไฟลท์เช้า 7.30 – 8.50 น กลับช่วงเย็น เวลา 16.55 – 18.05 น

ที่นี่ มีบริษัทบริการรถเช่าเพียงรายเดียว คือ Avis ควรจองล่วงหน้า ส่วนบริษัทรถเช่าท้องถิ่นมีหลายร้านเหมือนกัน

วัดภูมินทร์

ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นวัดสำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน

Hilight คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนังในวิหาร หลวงเขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ ภาพเด่น คือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณกระซิบสนทนากัน ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิงแต่งกายไทลื้ออย่างเต็มยศ ภาพวาดของหนุ่มสาวคู่นี้มีความประณีตมาก ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์

ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก เช่น เสื้อยืด ไปรษณียบัตร หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้าน

ศาลหลักเมืองและวัดมิ่งเมือง

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็น เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ตัวอาคารทาด้วยสีขาว ตกแต่งสวยงาม

เสาหลักเมืองน่าน ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “เสามิ่งเมือง” เดิมเป็น ไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ฟุต สูง ประมาณ ๓ เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลมส่วนหัวเสาเกลาเป็น ดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นที่ดินโดยตรง ไม่มีศาลหรืออาคารครอบ แต่อย่างใด สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เหตุเพราะแต่ก่อนมานั้นเมืองน่านไม่มีคติการสร้าง เสาหลักเมือง

ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ มีความสวยงามวิจิตรบรรจงมาก เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน มีความวิจิตร งดงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และในบริเวณวัดยังเป็นที่ ประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุข ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลาย ลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อาหารเที่ยง ร้านเฮือนฮอม ร้านอาหารพื้นเมืองของชาวเหนือ

ร้านนี้อยู่ใกล้ๆ วัดมิ่งเมือง และศูนย์ OTOP ทานเสร็จแล้วช้อปปิ้งต่อได้ เมนูแนะนำ คือ ส้มตำลูกชิด ไก่ทอดมะแขว่น

วัดศรีพันต้น

วัดสีทองตั้งเด่นเป็นสง่า เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียร เฝ้าบันได หน้าวิหารวัด สีทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา มีความสวยงามมาก ดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวา ซึ่งปั้นแต่งโดยช่าง ชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ “สล่ารง” และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้า และประวัติ การกำเนิด เมืองน่าน

วัดศรีมงคล

เป็นวัดที่มีจุดชมวิว จุดถ่ายภาพ ร้านกาแฟ ลานนั่งเล่นมากมาย เหมาะกับนักท่องเที่ยวไปเที่ยวถ่ายภาพ ซึมซับบรรยากาศความเป็นน่าน

กาแฟบ้านไทลื้อ

Check point ร้านกาแฟที่ไม่มาไม่ได้ ร้านนี้เครื่องดื่มโอเค วิวสวย ตกแต่งด้วยผ้าทอสวยงาม

เข้าพักที่ ปัวพาโนราม่ารีสอร์ต

รีสอร์ตบรรยากาศดีมาก วิวสวย 180 องศา ชอบระเบียงของห้องพักทำเป็นตระแกรงให้นอนเล่น นั่งเล่นได้ รีวิวเต็มๆ ที่ https://tripmebe.com/2020/12/27/รีวิว-ปัวพาโนราม่าวิว-รี/

เย็นนี้ เราแวะไปที่ถนนคนเดินเมืองปัว ที่นี่มีที่จอดรถนะ ไปจอดในวัดปรางค์

แวะซื้ออาหารเสร็จสรรพเรียบร้อย ที่นี่มีจุดนั่งทานอาหารสไตล์ขันโตก มีดนตรีขับกล่อมด้วย

เช้าวันที่ 2 ออกเดินทางเพื่อไปบ่อเกลือ และสะปัน

ทานอาหารที่รีสอร์ตกันก่อน

ตามเส้นทางที่เราไป เราไปทางอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตามเส้นทางมีจุดชมวิว ถนนสวยๆ และร้านกาแฟวิวหลักล้าน

ร้านระหว่างทางคาเฟ่ จิบกาแฟ มองภูเขาแบบระยะประชิด เต็ม 2 ตา

จุดชมวิว 1715 ด้วยความสูงถึง 1715 เมตร อากาศเย็นสบายมากๆ วิวสวย

บ่อเกลือโบราณ

บ่อเกลือโบราณ บ้านบ่อหลวง มีหลักฐานทางธรณีวิทยาและมีการสันนิษฐานเอาไว้ว่าบริเวณแห่งนี้มีการตกตะกอนของน้ำทะเลในยุคเพอร์เนียน (Permian) ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายในมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) (ระหว่าง 250-299 ล้านปีมาแล้ว) ซึ่งน่าจะมีชั้นเกลือหินใต้ดินหรือเป็นโดมเกลือหินอยู่ในบริเวณนี้ และอาจจะบังเอิญขุดไปเจอบ่อน้ำที่มีรสชาติเค็มผุดออกมาจากใต้ดิน จนทำให้เกิดการผลิตเกลือจากบ่อน้ำเค็มบริเวณนี้ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่บ่อเท่านั้น และบ่อน้ำเค็มนี้ยังคงมีน้ำผุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เคยเหือดแห้งลงไปเลย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์จริงๆ

บ่อน้ำเค็ม มีน้ำตลอดปี

การต้มน้ำเกลือ แห้งเหือดจนกลายเป็นเกลือละเอียด นุ่มๆ

ผลิตภัณฑ์จากเกลือ นำมาใช้เป็นเกลือปรุงอาหาร เกลือขัดตัว

สะปัน แหล่งที่เที่ยวใหม่ของน่าน

เค้าว่าเป็นแหล่งโอโซนชั้นดี ต้องที่สะปัน อากาศดีสมคำเล่าลือ ป้ายนี้อยู่ที่สะพานสะปัน ใกล้ๆ มีร้านก๋วยเตี๋ยว ชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวครูผึ้ง

ร้านก๋วยเตี๋ยวครูผึ้ง มีก๋วยเตี๋ยว และอาหารตามสั่ง นั่งห้อยขามองลำธาร บรรยากาศดีมาก

หยุดเวลาคาเฟ่

ต้องมา ย้ำว่าต้องมาร้านนี้ วิวหลักล้านที่แท้ทรู

เราพักกันที่ เกลือละมุนธารา บ่อเกลือ

ซึมซับธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร ลำธารใสไหลเย็น ที่นี่มีบริการที่พักแบบห้องพัก มีห้องน้ำในตัว และแบบกระโจม ห้องน้ำรวม รีวิวเต็มๆ https://tripmebe.com/2020/12/27/รีวิว-เกลือละมุนธารา-บ่อ/

ร้านกาแฟ 29 Base

ร้านกาแฟเล็กๆ ขายแต่กาแฟดริป เพราะไม่มีไฟฟ้า วิวสวยสิบล้าน

ถนนโค้งสวย โค้งพับผ้าเลยทีเดียว

จุดชมวิวโครตสูง มีร้านค้าเล็กๆ ให้บริการ

จุดชมวิวถนนเลข 3 ฮิตที่สุดคือที่นี่ เลข3 สวยๆ ชัด ๆ คนเข้าคิวรอถ่ายรูปจำนวนมาก

อาหารเที่ยง เดอะวิว@กิ่วม่วง

ร้านอาหารและร้านกาแฟ ยอดนิยม วิวสวย อาหารอร่อย นั่งทานอาหารไป มองวิวไป อิ่ม

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงไม้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ปีพุทธศักราช 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 อย่างเป็นทางการ

ภายในแบ่งส่วนการจัดแสดงเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นบน จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.ห้องโถงใหญ่ เคยเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการของเจ้าผู้ครองนคร จัดแสดงข้อมูลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดน่าน การสร้างบ้านแปงเมือง หลักฐานศิลาจารึก ลำดับเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนคร เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ภาพถ่ายโบราณ เงินตราและอาวุธ 

2.ห้องปีกอาคารและเฉลียง จัดแสดงเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดน่าน แหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุจากการขุดค้นในพื้นที่เก็บกักน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเผาในจังหวัดน่าน ศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนาที่ก่อให้เกิดแนวคิดงานศิลปกรรมสกุลช่างเมืองน่าน

3.ห้องจัดแสดงงาช้างดำ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่านมาแต่โบราณ

หน้าพิพิธภัณฑ์ มีต้นลีลาวดีปลูกเรียงรายเป็นดง เป็นจุดถ่ายภาพยอดฮิตของน่าน

วัดพระธาตุเขาน้อย

องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหา อุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

เดินทางกลับสู่ กทม ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย

Leave a Reply